เมื่อเราพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับผู้ชายโดยตรง ส่วนใหญ่ก็จะมีไม่กี่โรค และหนึ่งในนั้นก็คือ โรคต่อมลูกหมาก และเมื่อเกิดขึ้นกับใครก็แล้วแต่ก็มักจะคิดหรือวิตกไปว่าจะเป็นมากถึงขนาดเป็นมะเร็งหรือเปล่า ดังนั้นวันนี้เราลองมาดูว่า 4 ระยะมะเร็งต่อมลูกหมาก มีอาการอย่างไร และแนวทางป้องกัน
4 ระยะมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 : ระยะแรกเริ่มของโรค เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กและไม่รุนแรงเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
- ระยะที่ 2 : เซลล์มะเร็งอาจยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่ค่อนข้างมีความรุนแรง หรือในบางรายเซลล์มะเร็งอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และเจริญเติบโตไปทั้ง 2 ข้างของต่อมลูกหมาก
- ระยะที่ 3 : เป็นระยะมะเร็งลุกลามออกจากบริเวณต่อมลูกหมากไปยังระบบสืบพันธุ์หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ รอบข้าง
- ระยะที่ 4 : เซลล์มะเร็งเติบโตจนรุกล้ำ เข้าไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้อย่างกระเพาะปัสสาวะ หรือแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตามระยะของโรค
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากและการใช้รังสีรักษา ซึ่งทั้งสองวิธีนั้น จะให้ผลในการควบคุมโรคได้เหมือนๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่ผลข้างเคียง
ส่วนในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคได้โดยบังเอิญ ในแบบที่ไม่มีอาการแสดง เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความรุนแรงต่ำ แพทย์จะใช้วิธีการเฝ้าระวัง และตรวจติดตามอาการอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่ให้การรักษาใดๆ เพื่อรอจนกว่าเซลล์มะเร็งจะลุกลามมากขึ้นจึงค่อยเริ่มการรักษา เป็นไปได้ด้วยการผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษา
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 2 – 3
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้นั้น อาจใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี รวมถึงการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 4
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้ อาจเป็นการให้ยาฮอร์โมน การผ่าตัดอัณฑะ เพื่อลดฮอร์โมน เทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีรักษาและการให้ยาเคมีบำบัด
โดยการรักษานั้นอาจะใช้เพียงวิธีเดียว หรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการ อายุ สภาพของผู้ป่วย และการแพร่กระจายของโรค ทั้งนี้ จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ และความประสงค์ของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวเป็นหลักด้วย
การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นผักและผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และสารอาหารมากมายที่ดีต่อสุขภาพ และแม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ก็มีประโยชน์ในการทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนัก การมีน้ำหนักตามมาตรฐานอย่างเหมาะสม สามารถตามมาด้วยสุขภาพที่แข็งแรง และปลอดโรคได้ ควรควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน
- ออกกำลังกายให้บ่อยครั้ง การออกกำลังกาย ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนัก มีบางงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกายนั้นมีค่า PSA สูงกว่าผู้ที่ออกกำลังกาย ที่จะมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า
- พูดคุยปรึกษากับแพทย์ ถึงภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากของตนเอง
วันนี้เราก็ได้รับรู้แล้วว่า 4 ระยะของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเป็นอย่างไร รวมถึงหนทางการรักษา และการป้องกันโรคนี้อย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในอนาคตต่อไป ยังไงเสียการป้องกันก็ย่อมดีกว่า การรักษาแน่นอนนะครับ
บทความยอดนิยม